มนต์ตราแห่งคำสาบ
"เวียงโยนกนาคพันธุ์"
ก่อนกาลล่มสลายกลายเป็นทะเลสาบเชียงแสน
ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมาของดินแดนและชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำสายและแม่น้ำโขงรวมถึงแถบลุ่มแม่น้ำกกนั้น ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ในรัชสมัยพญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ทว่าก่อนหน้าพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น ก็พบว่ามีชุมชนเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก - โขง และชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง
เรื่องราวของกำเนิดชุมชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก - โขงนั้น
ปรากฏอยู่ในตำนานหลายฉบับ ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติ
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน ต่างกล่าวไว้ว่า เทวกาล
เจ้าผู้ครองเมืองนครไทยเทศในยูนนาน ได้ให้ราชบุตรแยกย้ายกันไปสร้างบ้านแปงเมือง
สิงหนวัติกุมารจึงได้นำผู้คนอพยพมาสร้างเวียงขึ้นในเขตลุ่มแม่น้ำกก ตำนานระบุว่า
พญานาค ได้มาช่วยสร้าง จึงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า
"นาคพันธุ์สิงหนวัติ" หรือ "เวียงโยนกนาคพันธุ์"
มีกษัตริย์ปกครองต่อมาถึง 45 พระองค์
รวมถึงการขับไล่พวกขอมออกไปจากพื้นที่
จนในที่สุดเวียงโยนกนาคพันธุ์ก็ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำ เนื่องด้วยชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกตัวเท่าต้นตาลในแม่น้ำกก และแบ่งปันกันกินทั่วเมือง ตกกลางคืนเกิดฝนฟ้าคนอง แผ่นดินไหวเมืองจึงล่มเป็นหนองน้ำ กระทั่งปัจจุบันยังปรากฏหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้อำเภอเชียงแสนเรียกว่า เวียงหนอง ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเดิมคือเวียงโยนกนาคพันธุ์ของพระเจ้าสิงหนวัติ บริเวณกลางหนองมีเกาะเรียก ดอนแม่ม่าย ซึ่งพ้องตามตำนานที่ว่ามีแม่ม่ายรอดตายจากเมืองล่มอยู่เพียงลำพังคนเดียว เพราะไม่ได้ร่วมกินปลาไหลเผือกกับชาวเมืองคนอื่น ๆ จากพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงตำนานเวียงโยนกนาคพันธุ์ล่มไว้ว่า "ศักราชได้ปีเถาะ พุทธศาสนาล่วงได้ 1002 ปี พระองค์มหาชัยชนะเป็นกษัตริย์แห่งเมืองโยนกได้ 5 ปี คนทั้งหลายไปแอ่วแม่น้ำกุกกนาดี ก็เห็นปลาเหยี่ยนเผือกตัวใหญ่เท่าลำตาลยาว 7 วา เขาก็ปล่าวกันไปทุบเหยี่ยนเผือกตัวนั้นจนตายแล้วก็มีอาชญาให้ครัวแล้วแจกกันกินใคว่ทั้งเวียง เมื่อถึงเวลาค่ำแล้วก็ปรากฏได้ยินเสียงแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหว...เมื่อนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั่น ก็ยุบลงเกิดเป็นหนองน้ำใหญ่ คนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น มีกษัตริย์เจ้าเป็นประธานเลยวินาศฉิบหายตกจมลงไปในน้ำทั้งหมดแล..." นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวของตำนานเมืองเชียงแสนที่เล่าสืบต่อกันมาจากปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่แห่งบ้านแม่ลาก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายว่า "ครั้งหนึ่งมีหนองน้ำใหญ่อยู่ในเมืองนี้หนองหนึ่ง พญาเจ้าเมืองปล่อยเป็ด ห่านลงเล่นน้ำทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งพญาเจ้าเมืองพบว่าเป็ด ห่านที่เลี้ยงไว้ถูกปลาไหลกิน ท่านจึงได้ไปขอฝ้ายบ้านละปิ๊บ เอามาพันทำเป็นสายเบ็ดมัดติดไว้กับหลังเป็ดแล้วปล่อยลงหนองน้ำ ปลาไหลเผือกออกมากินจึงติดเบ็ด ชาวบ้านจึงช่วยกันจับได้ที่บ้านแม่ฮะ แล้วลากมาที่บ้านแม่ลาก เอาใส่เกวียนไปทำอาหารที่บ้านแม่ลัว จากนั้นจึงเอาไปฆ่าแล้วแบ่งกันไปทำอาหารกินที่บ้านแม่กก จากนั้นมีลูกชายพระอินทร์มาเที่ยวที่บ้านแม่ม่าย ถามว่าเมืองนี้มีกลิ่นอะไรหอมจัง แม่ม่ายตอบว่าเขากินปลาไหลเผือกกัน ลูกชายพระอินทร์จึงถามว่าได้กินกับเขาบ้างไหม แม่ม่ายตอบว่าไม่ได้กิน เขาไม่แบ่งให้ ลูกชายพระอินทร์ตอบว่าไม่ได้กินก็ดีแล้ว ถ้าได้ยินเสียงดังตอนกลางคืน อย่าออกไปข้างนอกให้อยู่แต่ในบ้าน ตกกลางคืนมีเสียงดังกึกก้อง แม่ม่ายจะวิ่งออกมาดูก็นึกถึงคำเตือนจึงกลับเข้านอน แต่ก็ได้ยินเสียงดังยิ่งกว่าเดิม พอถึงตอนเช้าจึงออกไปดู มองเห็นแต่น้ำเวิ้งว้างไปทั่ว" หนองน้ำดังกล่าวชาวบ้านเชื่อว่ากลายเป็นทะเลสาบเชียงแสน แอ่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 1 ตร.กม. ในท้องที่ตำบลโยนกก่อนถึงเมืองเชียงแสนประมาณ 5 กม. เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำจืดและปลานานาชนิด ซึ่งชาวบ้านหากินเลี้ยงชีพมาแต่โบราณ ทะเลสาบเชียงแสนในปัจจุบันอาจเป็นส่วนหนึ่งของเวียงโยนกนาคพันธุ์ที่ล่มสลายไปเมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน ซึ่งยังปรากฏมีเศษซากของโบราณสถานหลายแห่งไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบค้นเรื่องราวของตำนานมนต์ตราแห่งคำสาป ปัจจุบันพื้นที่ทะเลสาบเชียงแสนประมาณ 2,711 ไร่ แวดล้อมไปด้วยขุนเขาถูกประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย หรือ ทะเลสาบเชียงแสน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2528 เพราะมีการสำรวจพบว่าบริเวณนี้มีนกมากมายอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนกท้องถิ่นอย่างนกอีโก้ง นกอีลุ้ม นกอีล้ำ นอกจากนั้นในช่วงฤดูหนาวทุกปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปจะมีนกเป็ดน้ำจำนวนมาก ซึ่งอพยพโยกย้ายมาจากทางตอนกลางของทวีปเอเชียมาอาศัยอยู่ รวมทั้งนกที่หายากในเมืองไทย เช่น นกเป็ดพม่า นกเป็ดผีใหญ่ นกกาน้ำใหญ่ นกกระสานวล และนกเป็ดแดง เป็นต้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่รักในธรรมชาติต้องการมาชมทะเลสาบเชียงแสนและนกน้ำหายาก ในช่วงเวลานี้นับเป็นฤดูที่จะพบเห็นนกเหล่านี้ได้ โดยทะเลสาบเชียงแสนตั้งอยู่บริเวณ กม. 27 บ้านกู่เต้า ถนนสายแม่จัน - เชียงแสน แยกขวามือเข้าสู่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ประมาณ 1 กม.กล่าวกันว่าบริเวณทะเลสาบเชียงแสนเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศอีกด้วย เนื่องจากมีความสะดวกเพราะมีถนนรอบทะเลสาบสามารถใช้เพียงกล้องส่องทางไกลดูนกเท่านั้น |
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคายเดิมเป็นหนองน้ำขนาดเล็กซึ่งถูกล้อมรอบด้วยเนินเขาเตี้ยๆ โดยรอบเป็นแอ่งรองรับน้ำฝนตามธรรมชาติ ทางราชการได้ก่อสร้างเขื่อนน้ำล้น เพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้หนองน้ำมีปริมาณมากขึ้น มีลักษณะเป็นทะเลสาบ ขนาดย่อมเรียกว่า “ทะเลสาบเชียงแสน”
และได้รับการประกาศ จากกระกรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2528 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วย พื้นที่ชุมน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ อันดับที่ 1101 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2,711 ไร่
ที่ตั้งและอาณาเขต
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคายตั้งอยู่ในเขตท้องที่ตำบลโยนก ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน และตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ทิศเหนือ จรดบ้านดอยจำปี ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ทิศใต้ จรดบ้านทุ่งฟ้าฮ่าม ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ทิศตะวันออก จรดบ้านดอยจัน ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ทิศตะวันตก จรดบ้านห้วยน้ำราก ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย
สถานภาพของพื้นที่
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย อยู่ในบริเวณหนองน้ำพื้นที่สาธารณะ อยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ถูกจัดสถานภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ และอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ “แอ่งเชียงแสน”
ภูมิประเทศ
เป็นหนองที่มีลักษณะเป็นทะเลสาบขนาดย่อมล้อมรอบ ลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม ถัดจากเนินเขาจะเป็นพื้นที่ราบใช้ประโยชน์ทางการเกษตร บางส่วนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชน
ภูมิอากาศ
มีสภาพแบบกึ่งร้อนชื้น (sub tropical) ซึ่งมีลักษณะภูมิอากาศในรอบปี แบ่งเป็น 3 ฤดู
ฤดูร้อน , ฤดูหนาว และฤดูฝน
ป่าไม้และสัตว์ป่า
ป่าไม้
พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์หนองบงคาย มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหนองน้ำ มีส่วนของพื้นที่ดินมีลักษณะเป็นป่าแนวแคบๆ อยู่รอบหนองและบนเกาะกลางน้ำเท่านั้น สภาพป่าเป็นป่าเสื่อมโทรม ประกอบด้วยต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป อยู่ในระหว่างการทดแทนของสังคมพืช ยังคงมีสภาพที่เป็นป่าธรรมชาติ ประมาณ 20 ไร่
พันธุ์ไม้
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นน้ำ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่จึงเป็นสังคมพืชน้ำซึ่งค้นพบ จำนวนทั้งสิ้น 185 ชนิด เช่น ผักบุ้ง , บอน , หญ้าไซ , บัวหลวง และ กก เป็นต้น เป็นพืชต่างถิ่น 15 ชนิด เช่น กระถินยักษ์ , หญ้าชน , บัวบก และ มะระขี้นก เป็นต้น
พันธุ์สัตว์ป่า
พื้นที่เป็นที่ขนาดเล็กอยู่ระหว่างชุมชน ลักษณะเป็นป่ารุ่นใหม่ที่เคยบุกรุกแผ้วถางทำลายมาก่อน จึงทำให้สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ลดลงตามไปด้วย ยังคงเหลือแต่สัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น นก , หนู , งูไซ และไก่ป่า เป็นต้น แต่พื้นที่แห่งนี้ยังมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติทั้งด้านแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย สำหรับสัตว์ป่าจำพวกนกน้ำ ซึ่งพบทั้งสิ้น 156 ชนิด เป็นนกประจำถิ่น จำนวน 66 ชนิด , นกอพยพ จำนวน 64 ชนิด , นกประจำถิ่นและนกอพยพ จำนวน 16 ชนิด และนกไม่ทราบสถานภาพ จำนวน 10 ชนิด นกอพยพบางชนิดเป็นนกที่หายาก เช่น เป็ดเปียหน้าเขียว , เป็ดแมนดาริน , เป็ดผีใหญ่ เป็นต้น ส่วนนกประถิ่นได้แก่ นกเป็ดแดง , นกอีโก้ง , นกอีล้ำ เป็นต้น
ที่มา
http://www.sadoodta.com/info/
http://www.educatepark.com/
http://thai.tourismthailand.org/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น